วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

ลูกสะอึกบ่อยเป็นอันตรายไหม? เกิดจากอะไร? ต้องกินน้ำไหม?

อาการสะอึกเกิดจากการหดตัวแบบผิดจังหวะของกล้ามเนื้อกระบังลมที่เป็นจังหวะอย่างต่อเนื่อง (กล้ามเนื้อกระบังลม คือ อวัยวะที่กั้นอยู่ระหว่างปอดกับช่องท้อง ทำหน้าที่ช่วยในการหายใจ)
.
เด็กทารกมักมีอาการสะอึกบ่อยๆเป็นเรื่องปกติค่ะ มักเป็นตามหลังทานนมอิ่มๆ เนื่องจากกระเพาะ อาหารของเด็กทารกอยู่ชิดกับกล้ามเนื้อกระบังลม เมื่อมีการขยายขนาดของกระเพาะย่อมไปรบกวนการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อกระบังลมทำให้มีการสะอึกเกิดขึ้น วิธีทำให้หยุดสะอึกมีหลายวิธี เช่น การอุ้มลูกพาดบ่าเดินไปเดินมาเพื่อเร่งให้น้ำนมไหลออกจากกระเพาะอาหารเร็วขึ้น ให้ลูกกลับมาดูดนมแม่ต่ออีกหน่อย หรือการดูดน้ำในกรณีที่เด็กกินนมผง เพราะการดูดจะไปตัดวงจรการสะอึก ทำให้หยุดสะอึกเร็วขึ้น


.
การสะอึกไม่เป็นอันตรายแก่ลูก โดยธรรมชาติแล้วเด็กจะหยุดสะอึกเองได้ (เหมือนการสะอึกเมื่อลูกอยู่ในท้องคุณแม่ ทำให้พุงคุณแม่กระเพื่อมเป็นจังหวะตึ้กๆๆ ไม่ต้องมีใครช่วยให้หยุดสะอึก แต่ลูกหยุดสะอึกได้เอง) อย่างไรก็ดี เมื่อเด็กเริ่มโตขึ้นหลัง 4-5 เดือน จะไม่มีอาการสะอึกบ่อยๆแล้ว หากลูกยังมีอาการสะอึกบ่อยและหยุดสะอึกยาก อาจเป็นอาการบ่งถึงความผิดปกติบางอย่าง เช่น

• ความผิดปกติของระบบประสาทส่วนที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลม เช่น สมองอักเสบ เนื้องอกสมอง การได้รับบาดเจ็บที่สมอง

• ความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่ใกล้กล้ามเนื้อกระบังลมทำให้มีการรบกวนการทำงานของกล้ามเนื้อกระบังลม เช่น การเป็นเนื้องอกของอวัยวะบริเวณใกล้กระบังลม ภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ การไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารไปที่หลอดอาหาร ภาวะหลอดอาหารอักเสบ

• ความผิดปกติของเคมีในร่างกาย เช่น การได้รับอัลกอฮอลเกินขนาด ภาวะไตวาย

• การมีสิ่งแปลกปลอมหรือแมลงอุดตันในช่องหู

ดังนั้นหากคุณแม่สงสัยว่าลูกมีอาการสะอึกที่อาจเป็นภาวะที่ผิดปกติดังกล่าวข้างต้น สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุการสะอึกที่แท้จริงได้ค่ะ

ข้อมูลจากสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
Read More

วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2559

วิธีการเตรียมนมสต๊อกให้ลูกกิน

1.ย้ายนมแช่แข็งลงมาช่องน้ำเย็นให้ละลายในตู้เย็น 1 คืน วันรุ่งขึ้นเทใส่ขวดสะอาดปริมาณเท่าที่ลูกกินแต่ละครั้ง ฝึกลูกกินแบบเย็นๆคือดีที่สุด ไม่ทำให้ป่วยหรือเป็นหวัด สารอาหารอยู่ครบและกลิ่นหืนน้อยกว่านมอุ่น แต่ถ้าลูกไม่ยอมกิน ให้แช่ขวดในน้ำอุ่นหรือเปิดน้ำก๊อกให้ไหลผ่านขวด แต่อย่าให้น้ำโดนบริเวณฝาขวด เพื่อปรับให้เป็นนมอุณหภูมิห้อง ห้ามอุ่นบนเตาหรือไมโครเวฟ



2.นมที่ละลายแล้วหากยังไม่ได้กิน ตั้งอยู่ที่อุณหภูมิห้องแอร์ได้ 6-8 ชม. ถ้ากินเหลืออยู่ได้อีกเพียง 2 ชม. ให้ทิ้งได้เลย

3.นมที่ละลายแล้ว เก็บในช่องน้ำเย็นได้ 24 ชม. ห้ามเอากลับไปแช่แข็งอีกรอบ

การเก็บรักษานมสต๊อกในกรณีพิเศษ เช่น ไฟฟ้าดับ ภัยพิบัติ ส่วนในกรณีปกติให้ยึดตามหลักเกณฑ์ข้างบนเท่านั้นค่ะ

1.กรณีที่ทราบล่วงหน้าว่าจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้ใช้เครื่องปั๊มนมไฟฟ้าไม่ได้ ให้เตรียมที่ปั่นไฟ หรือ ที่ปั๊มนมใช้มือโยก หรือที่ปั๊มนมใช้แบตตารี่ หรือฝึกบีบด้วยมือ

2.การป้องกันไม่ให้นมแช่แข็งที่อยู่ในตู้แช่ละลาย ในกรณีที่ทราบล่วงหน้าว่าจะไม่มีไฟฟ้าใช้
เตรียมที่ปั่นไฟเพื่อใช้กับตู้แช่
ย้ายนมแช่แข็งไปแช่ที่อื่น
ถ้านมไม่เต็มตู้เแช่ ให้เอาน้ำใส่ถุงเข้าไปแช่แข็งถมพื้นที่อากาศให้เต็มตู้ตั้งแต่ยังมีไฟฟ้าใช้ เพื่อให้แข็งตัวเตรียมไว้ตอนไฟฟ้าดับ น้ำแข็งเหล่านี้จะช่วยให้นมแช่แข็งละลายช้าลง
ถ้าย้ายนมแช่แข็งไปไหนไม่ได้ อย่าเปิดตู้แช่โดยไม่จำเป็น ถ้านมเต็มตู้แช่และไม่เปิดเลย จะคงสภาพการแข็งได้นานถึง 48 ชม. (อ้างอิง via USDA) แต่ถ้ามีนมแช่แข็งเพียงครึ่งเดียวในตู้ ให้จัดนมแช่แข็งอยู่ตรงกลางตู้ เพราะจะเป็นบริเวณที่อุณหภูมิค่อนข้างคงที่มากที่สุด เอาหนังสือพิมพ์มายัดให้เต็มตู้แช่เพื่อให้มีอากาศน้อยที่สุด หรือเอาน้ำแข็งแห้งมาใส่ในตู้แช่ จะคงสภาพการแข็งได้ 24 ชม.

3.ถ้าไม่ทราบล่วงหน้าว่าไฟฟ้าดับ มาพบว่านมแช่แข็งละลายไปบางส่วนแต่ยังมีเกล็ดน้ำแข็งอยู่เกินครึ่ง ให้รีบทำให้แข็งใหม่โดยเร็ว ยังสามารถเก็บนมนั้นไว้ใช้ได้ และใช้นมส่วนนี้ให้หมดก่อน เพราะอายุการเก็บจะไม่นานเท่าเดิม (อ้างอิง via HMBANA’s best practice, 2005.)

4.ถ้านมไม่มีเกล็ดน้ำแข็งแล้ว ไม่สามารถกลับไปแช่แข็งได้อีก ถ้าไม่เย็นแล้ว ให้ทิ้ง ถ้ายังเย็นอยู่สามารถใช้ได้ภายใน 48 ชม.สำหรับเด็กปกติที่ไม่ใช่เด็กป่วยหรือเด็กคลอดก่อนกำหนด แต่ถ้าเป็นเด็กป่วยหรือคลอดก่อนกำหนดใช้เกณฑ์ 24 ชม.
Read More
loading...