วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

อารมณ์ของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกอย่างไร

สมองของทารกในครรภ์ อาจสามารถรับรู้สภาพอารมณ์ของว่าที่คุณแม่ในช่วงต่างๆ ได้และด้วยเหตุนี้เองที่อารมณ์ของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังคลอดออกมา

อยากให้ลูกแข็งแรง มีความสุข ฉลาด อารมณ์ดี สิ่งต่างๆ เหล่านี้ หากรอให้คลอดก่อนแล้วค่อยสร้างอาจจะช้าเกินไปค่ะ เพราะนับตั้งแต่วินาทีแรกที่ลูกน้อยปฏิสนธิขึ้นในครรภ์ของคุณ หัวใจดวงเล็กๆ ก็เริ่มทำงาน เซลล์ต่างๆ ในร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาไปเป็นร่างน้อยๆ ของลูก ฉะนั้น หากคุณต้องการสร้างลูกให้แข็งแรงร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาแล้วล่ะก็ ต้องเริ่มตั้งแต่วันแรกที่คุณรู้ตัวว่าตั้งครรภ์



ซึ่งนอกเหนือไปจากเรื่องอาหารการกิน และการออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว เรื่องอารมณ์ของคุณแม่ก็มีผลต่อเจ้าตัวน้อยในครรภ์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วง 1000 วันแรกนับตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์ ไปจนถึงลูกอายุครบ 2 ปี สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ จะส่งผลต่อชีวิตของลูกแทบทุกด้านไปจนตลอดชีวิต ฉะนั้นหากต้องการให้ลูกมีสภาพจิตใจที่ดีไปจนเติบใหญ่ ว่าที่คุณแม่ก็ต้องดูแลสภาพจิตใจและอารมณ์ของตนเองนับตั้งแต่วันนี้

อารมณ์ของแม่ท้อง กับสมองลูกในครรภ์

มีการศึกษาที่พบว่าสมองของทารกในครรภ์ อาจสามารถรับรู้สภาพอารมณ์ของว่าที่คุณแม่ในช่วงต่างๆ ได้ และด้วยเหตุนี้เองที่อารมณ์ของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์อาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการใช้ชีวิตหลังคลอดออกมา

โดยการศึกษาที่ทำโดยนักวิจัยจาก คณะ psychiatry and human behavior มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่าทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่มีสภาพอารมณ์คงที่ ทำคะแนนการทดสอบด้านจิตใจและการเคลื่อนไหวได้ดีกว่า ทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่มีอารมณ์แปรปรวนขณะตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะจากมีควมสุขเป็นซึมเศร้า หรือจากซึมเศร้าเป็นมีความสุข ทารกจะทำคะแนนการทดสอบด้านต่างๆ ได้น้อยกว่า

งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาว่าที่คุณแม่จำนวน 221 ราย และติดตามผลทารกหลังคลอดจนกระทั่งอายุ 1 ปี พบว่าเมื่ออายุ 6 เดือน ทารกที่คลอดจากคุณแม่ที่มีสภาพอารมณ์คงที่ (ไม่ว่าจะซึมเศร้า หรือไม่ซึมเศร้า) จะทำการทดสอบพัฒนาการทางร่างกายและจิตใจได้ดีกว่า หนูน้อยที่คลอดจากคุณแม่ที่มีอารมณ์แปรปรวนในขณะและหลังตั้งครรภ์ เมื่ออายุครบ 1 ปี ทารกที่เกิดจากคุณแม่ที่มีอารมณ์คงที่ ทำคะแนนทดสอบพัฒนาการทางจิตใจได้ดีกว่า ขณะที่คะแนนทดสอบด้านพัฒนาการทางร่างกายนั้นไม่พบความแตกต่าง

จะเห็นได้ว่า....
สภาพอารมณ์ของคุณแม่ส่งผลต่อจิตใจของลูกในระยะยาว ที่เป็นเช่นนี้นักวิจัยระบุว่า เพราะทารกในครรภ์มีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะกำหนดพัฒนาการด้านต่างๆ ของตัวเอง เมื่อคลอดออกมา หนูน้อยจะตอบสนองโลกภายนอกตามสิ่งที่เขาสัมผัสได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ กล่าวคือ หากแม่ท้องมีสภาพอารมณ์แปรปรวนอยู่เสมอ ลูกก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กหงุดหงิดง่าย ปรับตัวยาก งอแง เป็นต้น



Read More

น้ำคร่ำมีประโยชน์อย่างไรกับแม่ตั้งครรภ์?

ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ลูกน้อยนอนอุ่นๆ อยู่ในท้องคุณแม่นั้น ลูกจะถูกปกป้องจากการกระทบกระเทือนต่างๆ จากภายนอก ด้วยถุงน้ำคร่ำ ที่ในช่วงแรกก่อนที่ลูกจะได้รับสารอาหารต่างๆ ผ่านทางสายสะดือจากคุณแม่ ลูกก็กินน้ำคร่ำเนี่ยแหละค่ะ กินเสร็จก็ถ่ายออกมา หมุนเวียนอยู่อย่างนี้  ...น้ำคร่ำ หรือ Amniotic fluid คือ น้ำที่อยู่รอบๆ ตัวทารกในครรภ์ น้ำคร่ำสร้างเพิ่มขึ้นประมาณวันละ 30-40 มิลลิลิตร (ซีซี) ต่อวัน จนมีปริมาณถึง 4,000 ซีซี ปริมาณน้ำคร่ำจะเริ่มลดลงในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 36 สัปดาห์เป็นต้นไป และลดลงอย่างมากหลังอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ จึงเป็นที่มาว่าทำไมการตั้งครรภ์ไม่ควรให้คลอดเกินอายุครรภ์ 40 สัปดาห์ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ จากภาวะน้ำคร่ำน้อยนั่นเอง

น้ำคร่ำมีประโยชน์อย่างไร? 



น้ำคร่ำประกอบด้วยสารหลายชนิด เช่น โซเดียม คลอไรด์ เหล็ก ทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของทารก และควบคุมอุณหภูมิของทารก ช่วยเป็นเกราะป้องกันอันตรายจากแรงกระแทกต่างๆ ที่ผ่านทางหน้าท้องของคุณแม่ และช่วยให้ทารกเคลื่อนไหวอย่างคล่องตัว เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาการอวัยวะต่างๆ ของทารกในครรภ์ โดยเฉพาะระบบกล้ามเนื้อรวมไปถึงข้อ

ในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ น้ำคร่ำสร้างจากถุงการตั้งครรภ์ ที่เรียกว่า ถุงแอม เนี่ยน (Amnion) ส่วนในช่วงไตรมาสที่สอง หลังจากระบบขับถ่ายทารกในครรภ์เริ่มพัฒนา(8-11 สัปดาห์) น้ำคร่ำส่วนใหญ่มาจากการถ่ายปัสสาวะของทารกในครรภ์ (Fetal urine) โดยจะสร้างได้ถึงวันละ 700-900 ซีซี ในครรภ์ใกล้ครบกำหนด

น้ำคร่ำหมุนเวียนโดยเมื่อสร้างออกมาอยู่ในถุงน้ำคร่ำแล้ว ทารกก็จะกลืนเข้าไปทางปาก(เริ่มที่ 8-11 สัปดาห์) และดูดซึมโดยลำไส้ นอกจากนี้ยังเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ และดูดซึมโดยเส้นเลือดในถุงลม นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนน้ำคร่ำในส่วนอื่นๆ อีก เช่น ผิวหนังทารกในครรภ์ ถุงหุ้มตัวทารก หรือแม้กระทั่งเส้นเลือดสายสะดือ

ลูกจะได้ประโยชน์จากน่ำคร่ำอย่างต่อเนื่องทั้ง 40 สัปดาห์ คุณแม่ควรใส่ใจในเรื่องของการทานอาหารที่มีประโยชน์ ทานอาหารที่เป็นโปรตีน เช่น นมถั่วเหลือง ไข่ เนื้อไก่ เนื้อปลา และก็ต้องดื่มน้ำให้มากด้วยนะคะที่สำคัญต้องนอนพักผ่อนให้เพียงพอด้วย



Read More

วันอังคารที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

วิธีปั๊มนมแม่ ปั๊มนมอย่างไรให้ได้น้ำนมเยอะๆ มาดูกัน

ก่อนอื่นต้องถามก่อนว่า คุณแม่เป็นคุณแม่ฟูลไทม์หรือทำงานนอกบ้าน ถ้าเป็นคุณแม่ฟูลไทม์ เน้นดูดเต้าเพราะนมจากเต้ามีประโยชน์มากกว่า ถ้าว่างจริงๆ ค่อยปั๊มนมเพื่อทำสต๊อกไว้บ้าง ไม่ต้องทำสต๊อกเก็บไว้เยอะ ยกเว้นว่าคุณแม่จำเป็นต้องหย่านมเร็วเพราะมีภารกิจต้องกลับไปทำงานที่ไม่สามารถให้นมแม่ต่อได้หรือบางท่านต้องมีลูกคนต่อไปโดยการทำเด็กหลอดแก้วเนื่องจากอายุมากแล้ว ก็จำเป็นต้องมีนมสต๊อกเก็บไว้ใช้หลังจากที่หย่านมเต้าในเวลาอันรวดเร็วกว่าที่คาดคิด

กรณีที่เป็นคุณแม่ทำงานนอกบ้าน หากต้องการประสบความสำเร็จในการให้นมแม่ได้ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ คือ นมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และ นมแม่ร่วมกับอาหารเสริม นานจนถึง 2 ปี หรือมากกว่า ควรทราบวิธีการว่าทำอย่างไรจึงปั๊มนมและเก็บนมได้เพียงพอ ระยะเวลาลางานหลังคลอดไม่ได้เป็นปัญหา หากคุณแม่มีความรู้เรื่องปั๊มนมและเก็บนมอย่างถูกต้อง

ต่อไปนี้ คือ เคล็ดลับที่ทำให้ปั๊มนมได้จำนวนมาก และ ปั๊มได้ยาวนาน โดยยังไม่เบื่อ และยังไม่คิดจะเลิกปั๊ม

1. เริ่มปั๊มได้เลยตั้งแต่หลังคลอด ว่างเมื่อไร แทนที่จะนั่งดูทีวี หรือ อ่านหนังสือพิมพ์ หรือ คุยโทรศัพท์ หรือ เล่นเน็ต แล้วมืออยู่ว่างๆ ให้เอาที่ปั๊มนมมาถือเอาไว้ จะได้เริ่มมีน้ำนมสะสมเตรียมไว้ ที่แนะนำให้ทำกิจกรรมอื่นด้วยขณะปั๊มนม เพื่อให้ไม่เครียด เดี๋ยวน้ำนมจะพาลไม่ไหล อย่าไปจ้องที่ปั๊มนม เดี๋ยวน้ำนมอายแล้วไม่ออกมา

2. ควรใช้เครื่องปั๊มนมแบบ 2 ข้างพร้อมกัน เพราะเวลาที่นมข้างหนึ่งถูกกระตุ้น อีกข้างหนึ่งจะไหลด้วย ช่วยประหยัดเวลา เช่น ถ้าปั๊มทีละข้างนาน 30 นาที จะได้นมเท่ากับปั๊ม 2 ข้างพร้อมกันนาน 10 นาที และเมื่อต้องเสียเวลาปั๊มนมนาน จะทำให้ไม่อยากปั๊มบ่อย เพราะกลัวเสียเวลางาน ถูกคนอื่นมองว่าอู้งานไปปั๊มนมการใช้เครื่องปั๊มนมแบบ 2 ข้าง ถึงแม้จะรู้สึกว่าราคาแพง (หากซื้อเครื่องมือสอง จะได้ราคาถูกกว่า---- แอดมินขอเสริมนิดนะคะ "ขอเสริมเรื่องเครื่องปั๊มมือสองนะคะ บทความนี้ป้าหมอเขียนไว้นานแล้ว สมัยนั้นเครื่องปั๊มนมดีๆ ราคาแพงเป็นหมื่น มือสอง 5-6 พัน ป้าหมอจึงแนะนำมือสอง

คุณแม่ที่จะซื้อมือสองขอให้พิจารณาถึงความเสี่ยงประกอบด้วยนะคะ เพราะมีกรณีตัวอย่างที่ร้านนมแม่เจอมาเยอะคือ

ได้อุปกรณ์ไม่ครบ เครื่องตกหล่น มือสาม มือสี่ก็มี ที่เลวร้ายกว่าคือโอนเงินไปแล้วไม่ได้ของ แทนที่จะเสีย 5200 ได้ของใหม่ตั้งแต่ครั้งแรก เลยต้องเสีย 8700 แถมเสียใจ เสียเวลา เสียความรู้สึกอีกด้วย")

แต่ในระยะยาว จะประหยัดเงินได้มากกว่า เพราะจะปั๊มนมได้มากกว่า ช่วยประหยัดค่านมผง เดือนละ 3-4 พันบาท ไหนจะค่ารักษาเวลาลูกเจ็บป่วยไม่สบาย เพราะเด็กที่กินนมแม่จะป่วยน้อยกว่าเด็กที่กินนมผง 5-10 เท่าแต่บางท่าน การซื้อเครื่องปั๊มนม อาจเป็นเรื่องทำได้ยาก (ยกเว้นว่ามีการผ่อนจ่ายเป็นรายเดือน เหมือนค่าโทรศัพท์มือถือ หรือ เครื่องใช้อิเล็คโทรนิค) ดังนั้นการฝึกวิธีการบีบมือ หรือ การใช้เครื่องปั๊มนมแบบมือบีบ อาจเป็นทางเลือกที่ดี

อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ดูแลคนไข้ พบว่า แม่ๆ ที่ใช้เครื่องปั๊มแบบ 2 ข้าง มักปั๊มนมเลี้ยงลูกได้นานจนลูกโตมากกว่า แม่ที่ปั๊มนมแบบมือบีบ เพราะเหนื่อยน้อยกว่า และได้ทำงานอย่างอื่นไปพร้อมๆกัน จึงรู้สึกเพลินๆขณะที่ปั๊มนม

3. ช่วงที่ยังไม่กลับไปทำงาน ตอนกลางวัน ให้ใช้สูตร ขโมยปั๊มนมทุกๆชั่วโมง เช่น ลูกดูดเสร็จตอน 10 โมง ให้คุณแม่นอนหรือพักผ่อนประมาณ 1 ชม. แล้วจึงค่อยปั๊มนม 2 ข้างพร้อมกันนาน 10 นาที (ไม่ปั๊มทันทีที่ลูกดูดเสร็จ เพราะจะได้น้ำนมน้อย เนื่องจากลูกเพิ่งดูดไป) ได้นมที่ปั๊มออกมาแล้ว ให้เก็บใส่ตู้เย็น โดยเทออกจากขวดที่ปั๊ม เก็บใส่ในถุงหรือขวดอีกใบ ส่วนขวดที่ปั๊มให้ใช้ถุงพลาสติกครอบส่วนที่เป็นกรวยปั๊ม เพื่อไม่ให้สกปรก แล้วเก็บไว้ในตู้เย็นเช่นกัน อีก 1 ชม.ให้เอาออกจากตู้เย็นมาปั๊มอีก 10 นาที เอานมที่ได้ไปเทรวมกันได้ภายใน 1 วัน

ส่วนที่ปั๊มนมให้ล้างและนึ่งวันละครั้ง ปั๊มนมได้เรื่อยๆในช่วงกลางวัน การปั๊มเพียง 10 นาทีในแต่ละครั้ง ถึงแม้ว่าลูกจะตื่นมาขอดูด ทันทีที่เพิ่งปั๊มเสร็จ น้ำนมที่เหลืออยู่ในเต้ายังพอเพียงสำหรับลูกแน่นอนค่ะ (สังเกตว่าลูกยังอุจจาระเกิน 2 ครั้งต่อวัน)

ถึงแม้ว่าลูกจะทำท่าหงุดหงิดเวลาที่ดูดนมแม่หลังจากเพิ่งปั๊มเสร็จ ไม่ได้หมายถึง นมแม่ไม่พอ เพียงแต่ไหลช้าลง แต่ไม่นาน ลูกจะปรับตัวเข้ากับความช้าของน้ำนมได้เอง แต่ถ้าคุณแม่ไม่มั่นใจว่า การขโมยนมออกนาน 10 นาที จะเป็นการเอานมออกมากเกินไป อาจเริ่มจากปั๊มนานเพียง 5-7 นาทีก่อนก็ได้ ส่วนเวลากลางคืน หลังจากลูกดูดเสร็จแล้ว หากคุณแม่ยังไม่ง่วงนอน จะปั๊มนมต่ออีก10 นาทีก็ได้ค่ะ ถึงแม้ได้นมไม่มาก แต่ช่วยให้เกลี้ยงเต้าจริงๆ แต่ถ้าแม่ง่วงนอน จะนอนเลยก็ได้ค่ะ ขโมยปั๊มแค่ช่วงกลางวันก็ได้ค่ะ

ในกรณีที่ลูกเป็นเด็กที่ขอดูดนมตลอดเวลาแทบทุกชั่วโมง ทำให้แม่ไม่มีเวลาเหลือพอที่จะขโมยปั๊มนม ให้ใช้วิธีปั๊มนมพร้อมกับขณะที่ลูกดูดนมอีกข้าง โดยถือที่ปั๊มนมนาน 10 นาที ก็เพียงพอ ครั้งต่อไปที่ลูกดูด ให้สลับข้างดูดและปั๊ม

4. เมื่อลูกอายุครบ 1 เดือน ให้เริ่มฝึกให้ลูกดูดนมแม่จากขวด
วันละ 1-2 ครั้งทุกๆวัน ให้ใช้จุกขนาดเล็กเท่านั้น และไม่ต้องเปลี่ยนขนาดจุกเมื่อลูกโตขึ้น เพราะถ้านมไหลเร็ว ลูกจะติดความเร็ว แล้วปฏิเสธการดูดเต้า หรือ แสดงท่าทีหงุดหงิด
เวลาถือขวดนม ควรทำให้ขวดขนานกับพื้นราบ เพื่อให้นมไหลช้าที่สุด ลมเข้าท้องให้คอยจับเรอ ใช้เวลาในการป้อนขวดนาน 20 นาที ไม่ใช่ 2-3 นาที เพราะถ้าดูดเสร็จเร็ว ลูกยังมีความอยากดูดอยู่ จะขยับปากและร้องไห้จะดูดต่อ ทำให้ผู้เลี้ยงเข้าใจว่า ยังกินไม่อิ่ม จึงเติมนมเข้าไปอีก จนล้นออกมา หรือ ใช้นมจนหมดสต๊อก

ปริมาณนมที่ลูกควรกิน คือ ชั่วโมงละ 1 ออนซ์ เช่น ลูกอายุ 1 เดือน กินนมครั้งละ 3-4 ออนซ์ ควรอิ่มนาน 3-4 ชม. ถ้าลูกอายุ2 เดือน กินนมครั้งละ 4-5 ออนซ์ ควรอิ่มนาน 4-5 ชม.

5.เมื่อแม่กลับไปทำงานนอกบ้าน ควรปั๊มนมทุก 2-3 ชม.
จะช่วยรักษาระดับการสร้างน้ำนมให้คงที่ ไม่ลดลง แต่ถ้าปั๊มห่างกว่า 3 ชม. ปริมาณน้ำนมจะลดลง ดังนั้น หากเป็นไปได้ ควรปั๊มนมที่โต๊ะทำงาน และใช้ผ้าคลุมสวมทับ โดยใช้แขนเพียงข้างเดียวดันที่ปั๊มนมทั้ง2 ข้าง ส่วนอีกข้างยังทำงานได้

ผู้เลี้ยงดูลูก ควรใช้นมแม่อย่างประหยัด คือ ไม่เกินชม.ละ 1 ออนซ์ เช่น ถ้าแม่ไม่อยู่บ้าน 12 ชม. ควรใช้นมสต๊อกไม่เกิน 12 ออนซ์ เพราะถ้าลูกกินนมสต๊อกมากเกินไป เมื่อแม่กลับจากที่ทำงาน ลูกจะอิ่มแล้ว ไม่อยากดูดเต้าอีก ถ้าลูกไม่ได้ดูดเต้าบ่อยพอ การสร้างน้ำนมจะลดลง ลูกบางคน กินนมสต๊อกน้อยมาก เพราะรอแม่กลับจากที่ทำงาน รอดูดเต้า ทำให้ช่วงกลางคืน ตื่นกินนมบ่อย ข้อดี คือ ช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ดี เพราะฮอร์โมนจะหลั่งดีตอนกลางคืน แต่ข้อเสีย คือ แม่อาจไม่ไหว เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ถ้าไหว ก็ให้ลูกดูดไปเถอะค่ะ เพราะถ้าลูกหลับยาวช่วงกลางคืน แล้วคุณแม่ไม่ได้ตื่นขึ้นมาปั๊มนม หลับยาวตามลูกไปด้วย จะทำให้น้ำนมลดลงอย่างรวดเร็ว และอาจมีปัญหาเต้านมคัดเต้าจนอักเสบตามมา

การที่ลูกตื่นดูดกลางคืนบ่อย ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับสุขภาพของลูกค่ะ ทั้งเรื่องฟันและโกร๊ทฮอร์โมน ให้แปรงฟันลูกให้สะอาดก่อนเข้านอน ไม่ให้กินของหวาน พาไปตรวจฟันเป็นประจำ เรื่องโกร๊ทฮอร์โมนก็ไม่ต้องกังวลเพราะลูกตื่นมากินนมเป็นช่วงที่ลูกหลับตื่น ไม่ใช่ช่วงหลับลึกที่โกร๊ทฮอร์โมนหลั่ง

ส่วนวันที่แม่อยู่บ้าน ควรเอาลูกเข้าเต้าดูดทุกครั้ง แล้วขโมยปั๊มนมเพื่อสะสมทำเป็นสต๊อก ไม่ใช่ปั๊มนมได้แล้ว เอามาใส่ขวดให้ลูกดูด เพราะการกระตุ้นโดยลูกดูดจะช่วยสร้างน้ำนมมากกว่าการใช้เครื่องปั๊ม

ที่มา-เพจป้าหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ
Read More
loading...