วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

ทำได้อย่างไร คุณแม่จึงจะผลิตน้ำนมมากขึ้น

Sponsored Links

สามารถทำได้ในผู้หญิงทุกคนที่มีต่อมน้ำนม ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ตั้งครรภ์ หรือ ไม่เคยมีลูกมาก่อนก็ตาม และในบางคนอาจผลิตน้ำนมได้ในปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของลูกได้โดยไม่ต้องใช้นมผงเลย




วิธีการ

1.กรณีที่แม่เตรียมรับลูกบุญธรรม หรือ กรณีให้ผู้อื่นอุ้มบุญเนื่องจากไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้ เมื่อใกล้คลอดประมาณ 2 สัปดาห์ ให้คุณแม่ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์เริ่มกินอาหารกระตุ้นน้ำนม และ/หรือ ยากระตุ้นน้ำนมดอมเพอริโดน (หากไม่มีผลข้างเคียงหรือแพ้ยา) 2 เม็ด ทุก 6 ชม. และ/หรือ ยาประสระน้ำนม , fenugreek , ลูกซัด และให้เริ่มปั๊มนมเพื่อกระตุ้นได้เลย โดยใช้เครื่องปั๊มแบบคู่ ทุก 2-3ชม. ทั้งกลางวัน/กลางคืน (กลางคืนสำคัญมาก โดยเฉพาะเวลา ตี 2-3 เนื่องจากฮอร์โมนหลั่งสูงสุด) ปรับความแรงของเครื่องสูงสุด แต่ไม่แรงเกินไปจนทำให้เจ็บหัวนม ปั๊มแต่ละครั้งนาน 20 นาที (ปั๊มไปด้วย ทำอะไรอย่างอื่นไปด้วย ให้เพลินๆ) หัวใจสำคัญอยู่ที่การกระตุ้นเต้านม ระบายน้ำนมออกบ่อยๆ อย่ารอให้เต้าคัดตึงแล้วจึงค่อยเอาออก เพราะจะทำให้น้ำนมไม่เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร

เมื่อลูกเกิดแล้ว ให้นำลูกมาดูดเต้าเหมือนแม่ที่คลอดลูกปกติ น้ำนมจะมาภายใน 2 สัปดาห์ บางคนมีน้ำนมมาตั้งแต่ลูกยังไม่ได้มาดูดกระตุ้นด้วยซ้ำไป ตั้งแต่ตอนที่ยังใช้เพียงแค่ใช้เครื่องปั๊มกระตุ้น หากน้ำนมยังไม่มา แต่นน.ตัวลูกเริ่มลดลงต่ำกว่า 10 เปอร์เซนต์ของแรกเกิดแล้ว ให้เสริมนมโดยต่อสายพลาสติกเล็กๆสำหรับให้อาหารมาที่หัวนม (lactation aids) เวลาลูกดูด จะได้รับน้ำนมเพิ่มเข้าไปด้วย

หากไม่ให้ลูกดูดเต้าเลย ใช้วิธีปั๊มอย่างเดียว จะผลิตน้ำนมได้ไม่มากเท่ากับรายที่ลูกได้ดูดเต้าด้วย จึงควรให้โอกาสเด็กดูดเต้าให้ได้ หากรพ.ที่คลอดช่วยให้ลูกดูดเต้าไม่ได้ อย่าเพิ่งถอดใจ ตัดสินใจเป็นคุณแม่นักปั๊ม ควรติดต่อคลินิคนมแม่เพื่อเรียนรู้ท่าดูดนมที่ถูกต้อง หรือ ตรวจดูว่า มีพังผืดใต้ลิ้นหรือไม่ เมื่อได้รับการแก้ไขแล้ว การดูดเต้าอาจเป็นเรื่องง่ายเหมือนพลิกฝ่ามือ

2.แม่ที่น้ำนมเริ่มลดลง หรือ เคยให้นม แต่หยุดให้ไป และน้ำนมแห้งไปแล้ว อยากเปลี่ยนใจจะกลับมาให้นมแม่อีก เพราะลูกอาจมีปัญหาแพ้นมผง ไม่สบายบ่อย

หากหยุดไปไม่นาน และแม่ต้องการกลับมาให้ลูกดูดเต้าอีกเพราะหวังผลกระตุ้นอย่างเต็มที่ ก็ใช้วิธีเดียวกับข้อ 1. และหากเป็นไปได้ ควรหยุดการป้อนนมลูกด้วยขวดนม เพราะจะทำให้การกลับมาดูดเต้าเป็นไปได้ยาก ให้เปลี่ยนเป็นการป้อนนมด้วยถ้วย ช้อน ดูดหลอด เป็นต้น

แต่ถ้าทำยังไง ลูกก็ยังไม่ยอมดูดเต้าแล้ว ให้คุณแม่ปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอทั้งกลางวัน/กลางคืน ร่วมกับการกระตุ้นจี๊ดที่หัวนม และฝึกบีบเต้าให้เกลี้ยงด้วยมือ ก็จะทำให้น้ำนมเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน

น้ำนมแม่ที่ผลิตได้ มีคุณสมบัติเหมือนกับน้ำนมแม่ตามปกติ และ การที่แม่ปั๊มนม ถึงแม้ว่าลูกไม่ได้ดูดเต้าโดยตรง ก็ช่วยลดความเสี่ยงของโรคหลายโรคในแม่ด้วยเช่นกัน เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ โรคกระดูกพรุน ฯลฯ

ขอเป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกท่านที่กำลังกู้น้ำนม หรือ ผู้มีความต้องการผลิตนมแม่ด้วยความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมค่ะ

คุณแม่กู้น้ำนมโดยใช้เครื่องปั๊มทุก 3 ชม.ทั้งกลางวันกลางคืน โดย 3 สัปดาห์แรก ไม่มีน้ำนมออกมาสักหยด เริ่มได้ติดก้นขวดเมื่อ 21 วัน และได้มากกว่า 3 ออนซ์/วัน เมื่อ 28 วัน ขณะเดียวกันคุณแม่ท่านนี้ก็พยายามให้ลูกฝึกดูดเต้าด้วย ตอนไม่ได้หิวจัดๆ อารมณ์ดีๆ ถ้าดูดแล้วเริ่มหงุดหงิด คุณพยาบาลก็เอาแผ่นแปะหัวนมซิลิโคนมาครอบ หรือ เอาน้ำนมมาหยดล่อที่เต้า เพื่อจูงใจให้ลูกยอมดูดต่อ

อย่าคิดว่า คุ้มกันไหมที่ต้องทุ่มเทขนาดนี้ คุ้มค่าแน่นอนค่ะ เพราะน้ำนมแม่ 1 ซีซี มีเม็ดเลือดขาวตั้ง 1-4 ล้านตัว ได้มาติดก้นขวด เอาหยอดปากลูกเท่ากับลูกได้รับภูมิคุ้มกันชั้นเยี่ยม และ ถ้าลูกยอมกลับมาดูดเต้าได้ด้วย ยิ่งเป็นโบนัสที่ยิ่งใหญ่ น่าดีใจยิ่งกว่าถูกล็อตเตอรี่เสียอีก

ที่มา - สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ


EmoticonEmoticon

loading...